Home > รายงานพิเศษ > เฉลิมฉลองสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาครบรอบ 60 ปี
จากผู้เรียนถึงผู้แบ่งปัน – 60 ปีที่จีนก้าวสู่ระดับโลกอย่างมั่นใจ
2009-09-23 18:11

ย้อนนึกถึงภาพการนั่งรถไฟฟ้าครั้งแรกขณะที่ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 1981 นายฟานชีจิ่น วัย 65 ปี ยังคงจำได้ดีเหมือนเพิ่งผ่านมาไม่นาน

“ตอนเด็ก ๆ ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น” นายฟานกล่าวด้วยรอยยิ้ม ปี 1981 เขาบินไปศึกษาวิชาวิศวกรรมอ่าวท่าเรือ ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวประเทศญี่ปุ่น “การไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศทำให้ผมทราบความลึกล้ำของสาขาอาชีพนี้ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าทุกอย่างที่ต่างประเทศล้วนดีกว่าของเรา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การทดลอง การพัฒนาทางด้านทฤษฎี หรือเทคโนโลยี” นายฟานชีจิ่นกล่าวทบทวน

20 ปีผ่านไป ขณะที่นายฟานชีจิ่นกลับไปเยือนญี่ปุ่นอีกครั้ง ในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กุมภาพันธ์ปีนี้ นายฟานได้รับเชิญไปบรรยายทางวิชาการที่ญี่ปุ่น ตัวเขาเองที่เคยตาลายตอนนั่งเครื่องบินครั้งแรก ปัจจุบันนี้เป็นวิศวกรใหญ่กรมบริหารเส้นทางการเดินเรือปากทางสู่ทะเลของแม่น้ำแยงซีเกียงและเป็นผู้แบ่งปัน “ประสบการณ์จีน” ในแขนงงานการท่าเรือ เขามีความมั่นใจเต็มเปี่ยมต่อหน้าผู้ฟังที่อยู่หน้าเวที ซึ่งรวมทั้งอาจารย์ชาวญี่ปุ่นของเขาก่อนหน้านี้และผู้อาวุโสในสาขาอาชีพเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงทางโอกาสของชีวิตนี้ทำให้เขาซาบซึ้งใจมาก “ตอนนั้น ผมไปเรียนจากพวกเขาร้อยเปอร์เซนต์ ที่เขานักศึกษาปริญญาตรีคนหนึ่งมีความรู้มากกว่าพวกเราที่ทำงานมาหลายปีแล้วด้วยซ้ำ แต่มาเปรียบเทียบอีกครั้งใน 20 กว่าปีให้หลังนี้ ประเทศของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในด้านเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางสังคม”

สิ่งที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีก คือสถานที่ใช้ชีวิตและทำงานของฟานชีจิ่น – เทียนจิน ชิงเต่าและเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันนี้เขาได้เป็นพลเมืองเซี่ยงไฮ้แล้ว “เด็กน้อย” ที่มาจากเฉิงตูในอดีต ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทรงอิทธิพลในแขนงงานเส้นทางเดินเรือบริเวณท่าเรือในปัจจุบันนี้ เส้นทางชีวิตที่ลดเลี้ยวของนายฟานชีจิ่น ชาวเมืองเซี่ยงไฮ้คนใหม่ ได้เดินทับตามรอยเท้าที่ “ก้าวออกไป” ของชาวจีนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งร่วมกันประกอบเป็นครรลองก้าวสู่โลก 60 ปีของจีนอย่างคดเคี้ยว

ปี 1949 ขณะสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่ ๆ ประเทศจีนอยู่ในสภาพที่ยากจนและล้าหลัง บ้านเมืองที่ปรักหักพังรอคอยการพัฒนา ประเทศขาดแคลนบุคลากรทางการบริหารและผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ปี 1950 นักศึกษาเรียนนอกรุ่นแรก 25 คนของประเทศจีนใหม่ เริ่มเดินทางไปเรียนภาษาและวิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ที่โปแลนด์เป็นต้น 5 ประเทศในยุโรปตะวันออก ต่อมา นักศึกษาถูกส่งไปเรียนที่โซเวียตและประเทศอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น สาธารณรัฐใหม่ก้าวสู่ระดับโลกด้วยจิตใจที่ว้าวุ่น

ทศวรรษปี 1960 จีนกับโซเวียตแตกหัก สถานภาพการเรียนเมืองนอกที่ยึดถือโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกเป็นอาจารย์แบบ “อาศัยข้างเดียว” จึงต้องหยุดไป “การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม” ที่ตามหลังมา เป็นการจลาจลที่ยืดเยื้อนานนับสิบปี ขณะนั้น ประตูที่ก้าวสู่โลกของจีนเกือบถูกปิดหมด ยกเว้นบางประเทศในทวีปเอเชีย อาฟริกาและละตินอเมริกาจำนวนไม่มาก จนกระทั่งปี 1972 จีนเริ่มดำเนินโครงการส่งนักศึกษาไปเรียนนอกอีกครั้ง โดยส่งนักศึกษารุ่นแรก 36 คนไปเรียนที่อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในยามยากลำบาก

เมื่อเดือนมิถุนายน 1978 เติ้งเสี่ยวผิงสั่งให้เปิดประเทศใหม่ ส่งเสริมการขยายจำนวนและขอบเขตการจัดส่งผู้คนไปเรียนที่ต่างประเทศให้กว้างขึ้น นายฟานชีจิ่นที่มีอายุ 37 ปีในขณะนั้น จึงมีโอกาสหาประสบการณ์ในการศึกษาต่อที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก

หลังจากนั้น กำลังนักศึกษาที่เรียนนอกของจีนขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขยายจากบุคคลผู้ยอดเยี่ยมไปสู่ประชาชนทั้งประเทศ ขยายจากการใช้ทุนรัฐบาลไปสู่การใช้ทุนส่วนตัว คนจีนที่ก้าวสู่ระดับโลก ก็ไม่เพียงแต่ในฐานะเป็น “นักเรียนนักศึกษา” เท่านั้นแล้ว แต่ได้ขยายไปสู่การทำธุรกิจการค้า การไปดูงานการลงทุน การไปท่องเที่ยวพักผ่อน คนจีนที่ก้าวสู่ทุกมุมโลก เริ่มเป็นฝ่ายกระทำในการแบ่งปันวัฒรธรรม ความรู้ สินค้าและเงินทุนของตน

หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อเดือนธันวาคม 2001 เป็นต้นมา จีนมีการติดต่อกับทั่วโลกอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ยอดมูลค่าการนำเข้าส่งออกของจีนใหม่เมื่อปี 1950 มีเพียง 1,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเพียง 0.9% ของยอดมูลค่าการค้าทั่วโลก ปัจจุบันนี้จีนได้กลายเป็นมหาประเทศทางการค้าที่ใหญ่อันดับที่ 3 และมหาประเทศการส่งออกอันดับที่ 2 ของโลกแล้ว ยอดมูลค่าการนำเข้าส่งออกของจีนในปี 2008 มีถึง 2.56 ล้าน ๆ ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 8.86% ของยอดมูลค่าการค้าทั่วโลก

ศาสตราจารย์จูเฟิงจากคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า “เมื่อ 60 ปีที่แล้ว พวกเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับโลก จึงมีความรู้สึกแปลกใหม่ต่อโลก เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการไปมาหาสู่กันกับโลกในตอนนั้นคือ การรักษาความปลอดภัยทางอธิปไตยและการได้รับการยอมรับจากโลกภายนอก ซึ่ง 60 ปีให้หลัง จีนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในการจัดการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนับวันยิ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในกิจการระหว่างประเทศ ในอนาคตข้างหน้านี้ จีนยิ่งต้องเพิ่มศักยภาพของตนเองโดยผ่านการติดต่อกันอย่างแน่นแฟ้นกับทั่วโลก เพื่อบรรลุซึ่ง ความร่วมมือ การอำนวยประโยชน์แก่กันและชัยชนะร่วมกันกับประชาคมโลก”

Suggest To A Friend:   
Print